ลาวดวงเดือน

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

คำสันธาน
คำสันธาน คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อมคำกับคำ ประโยคกับประโยคข้อความกับข้อความ หรือ ความให้สละสลวย ได้แก่ คำ และ หรือ แต่ เพราะ ฯลฯ
คำสันธานทำหน้าที่ได้ ๔ ลักษณะ ดังนี้
       ๑. ใช้เชื่อมคำกับคำ เช่น ฉันและเธอชอบเรียนวิชาภาษาไทย, เธอชอบมะลิหรือกุหลาบ
       ๒. ใช้เชื่อมข้อความ เช่น คนเราต้องการอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคด้วยเหตุนี้ เราจึงจำเป็นต้องประกอบอาชีพเพื่อให้ได้เงินมาซื้อสิ่งจำเป็นเหล่านี้
       ๓. ใช้เชื่อมประโยคกับประโยค เช่น แม่ชอบปลูกไม้ดอกแต่พ่อชอบปลูกไม้ประดับ, น้องไปโรงเรียนไม่ได้เพราะไม่สบาย
       ๔.เชื่อมความให้สละสลวย เช่น เขาก็เป็นคนจริงคนหนึ่งเหมือนกัน, คนเราก็ต้องมีผิดพลาดบ้างเป็นธรรมดา
คำสันธานมี ๔ ชนิด คือ
๑. คำสันธานเชื่อมใจความที่คล้อยตามกัน ได้แก่ คำ กับ, และ, ทั้ง...และ, ทั้ง...ก็, ครั้น...ก็, ครั้น...จึง, พอ...ก็
        ตัวอย่าง
              - พ่อและแม่รักฉันมาก
              - ฉันอ่านทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
              - พอมาถึงบ้านฝนก็ตก
๒. คำสันธานเชื่อมใจความที่ขัดแย้งกัน ได้แก่ คำ แต่, แต่ทว่า, ถึง...ก็, กว่า...ก็
        ตัวอย่าง
             - น้องอ่านหนังสือแต่พี่ฟังเพลง
             - ถึงเขาจะปากร้ายแต่เขาก็ใจดี
             - กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้เสียแล้ว
๓. คำสันธานเชื่อมใจความที่ให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ คำ หรือ, หรือไม่ก็, มิฉะนั้น, ไม่เช่นนั้น, ไม่...ก็
        ตัวอย่าง
            - เธอจะอ่านหนังสือหรือฟังเพลง
            - เราต้องขยันเรียนมิฉะนั้นจะสอบตก
            - นักเรียนต้องช่วยกันทำความสะอาดห้องเรียนหรือไม่ก็พัฒนาเขตรับผิดชอบ
๔. คำสันธานเชื่อมใจความที่เป็นเหตุเป็นผลกัน ได้แก่ จึง, เพราะ, เพราะว่า, เพราะ.....จึง, ฉะนั้น...จึง
       ตัวอย่าง
            - นักเรียนไม่ตั้งใจเรียนจึงสอบไม่ผ่าน
            - เพราะเขาเป็นคนดีจึงได้รับการยกย่อง
            - สุพิศมีความรับผิดชอบดังนั้นจึงได้รับคัดเลือกเป็นประธานนักเรียน
ข้อสังเกต
๑. คำสันธานบางคำใช้เข้าคู่กัน เช่น เพราะ......จึง, กว่า......ก็ ฯลฯ
๒. คำสันธานอาจอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ของประโยค เช่น
         - อยู่ระหว่างคำ ฉันซื้อดอกกุหลาบและดอกบัว
         - อยู่หน้าประโยค เมื่อทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ
         - อยู่ระหว่างประโยค เธอจะเล่นหรือจะเรียน
๓. ประโยคที่มีคำสันธานเชื่อมจะแยกได้เป็นประโยคย่อยตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไป
๔. คำบางคำเป็นได้ทั้งคำสันธานและคำบุพบท โดยการพิจารณาการแยกประโยคเป็นสำคัญ เช่น
         - เราทำงานเพื่อชาติ (เป็นบุพบท)
         - เราทำงานเพื่อเราจะได้สนองคุณชาติ (เป็นสันธาน)
๕. คำสันธานอาจเป็นกลุ่มคำก็ได้
๖. ประพันธสรรพนาม หรือสรรพนามเชื่อมประโยค ที่, ซึ่ง, อัน จัดเป็นคำสันธานด้วย เช่น
         - สตรีผู้มีความงามย่อมเป็นที่สนใจของคนทั่วไป
         - เขาทำงานอยู่ในท้องถิ่นซึ่งห่างไกลความเจริญ
         - ชายที่ยืนอยู่นั้นเป็นทหาร



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น